ชป. แก้ภัยแล้งคลองจรเข้สามพัน เพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำอย่างยั่งยืน

อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการสถานีสูบน้ำคลองจรเข้สามพัน-อู่ทอง(เขาดีสลัก) และ โครงการปรับปรุงฝายคลองระบายน้ำจรเข้สามพัน จ.สุพรรณบุรี  เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในพื้นที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี มักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณปลายคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง ที่รับและใช้น้ำต้นทุนจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองมะขามเฒ่า แต่เนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วงที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำ ประกอบกับสภาพคลองที่มีระยะทางค่อนข้างยาว รวมไปถึงมีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรตลอดแนวคลองทั้งสองฝั่ง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ปลายคลองเป็นอย่างมาก

กรมชลประทาน โดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 12 จึงได้วางแนวผันน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองจรเข้สามพัน-อู่ทอง(เขาดีสลัก) จ.สุพรรณบุรี  ระยะที่1 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 0.5 ลบ.ม./วินาที จำนวน 6 เครื่อง พร้อมระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และท่อส่งน้ำขนาด 1,500 มิลลิเมตร ยาว 250 เมตร  ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 95 ของแผนงาน ส่วนระยะที่ 2 เป็นการวางท่อส่งน้ำขนาด 1,500 มิลลิเมตร ยาว 7,750 เมตร  และท่อส่งน้ำขนาด 1,400 มิลลิเมตร ยาว 4,200 เมตร รวมความยาวทั้งสิ้น 11,950 เมตร พร้อมอาคารประกอบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ

นอกจากนี้  ยังมีแผนจะก่อสร้างระบบส่งน้ำอู่ทอง-สระกระโจม พร้อมอาคารประกอบ ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2566-2568) ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่ดำเนินโครงการ หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรตามแนวคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง รวมทั้งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภค ให้แก่พื้นที่ฝายคลองวันดี ตำบลสระกระโจม อำเภอดอนเจดีย์ รวมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 38,000 ไร่

สำหรับโครงการปรับปรุงฝายคลองระบายน้ำจรเข้สามพัน จ.สุพรรณบุรี นั้น เนื่องจากฝายยางบริเวณ กม.15+500 ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2537 เพื่อใช้ควบคุมระดับน้ำและเก็บกักน้ำไว้ใช้ด้านเหนือฝาย รวมทั้งส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในเขตตำบลจรเข้สามพัน และตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันเกิดการชำรุดรั่วซึมเนื่องจากมีอายุการใช้งานมานาน  ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำในคลองระบายน้ำลดลง กรมชลประะทาน จึงได้จัดทำรายงานการศึกษาโครงการเบื้องต้น (Reconnaissance Study) แล้วเสร็จเมื่อเดือน มกราคม 2563 พิจารณาดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำขนาด 6.00 x 6.00 เมตร จำนวน 3 ช่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 120 ลบ.ม./วินาที ระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี (2565 – 2566) ทดแทนฝายยางเดิม เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำในคลองระบายน้ำสายใหญ่จรเข้สามพัน – คลองสองพี่น้อง  ให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำได้มากยิ่งขึ้น