กรมชลฯ ลงพื้นที่ติดตามการลำเลียงน้ำลงเจ้าพระยา รับมือน้ำทะเลหนุนสูงสัปดาห์หน้า

รายงานข่าว เปิดเผยว่า นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ผู้เชี่ยวชาญ และผู้อำนวยการส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาค่าความเค็มที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ณ ห้องประชุมswoc อาคาร 99ปี หม่อมหลวงชูชาติกำภู กรมชลประทาน ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่11จ.นนทบุรี และการประปานครหลวง โดยมีนายวรวิทย์ บุณยเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการประปานครหลวง และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

นายประพิศ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความห่วงใยถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดกับทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบัน ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีรวมกันประมาณ 7,577 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 881 ล้าน ลบ.ม. เนีองจากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับพื้นที่ตอนบนมีฝนตกน้อยไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ปัจจุบัน(5 ก.ค. 64)ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแลของการประปานครหลวง(กปน.) มีค่าความเค็มวัดได้สูงสุดถึง 1.40 กรัม/ลิตร (มาตรฐานการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร)

กรมชลประทาน ได้ร่วมกับกปน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งควบคุมค่าความเค็ม โดยปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 120 ลบ.ม./วินาที ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่านสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือ มายังสถานีสูบน้ำสิงหนาท2 ในอัตรา 15 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงระหว่างวันที่ 11-14 ก.ค. 64 และประสานไปยังสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ให้ทำการระบายน้ำออกในช่วงน้ำลง เพื่อผลักดันน้ำเค็ม รวมทั้งประสานการประปานครหลวง ปรับเวลาการปฏิบัติการ water hammer ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านท้ายน้ำจะบริหารจัดการน้ำด้วยการปิดเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนและปริมาณน้ำในลำน้ำ เพื่อเจือจางค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่ติดตามการลำเลียงน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่านคลองจระเข้สามพัน ลงสู่แม่น้ำท่าจีนผ่านประตูระบายน้ำสองพี่น้องในอัตรา 30 ลบ.ม/วินาที ต่อเนื่องไปยังสถานีสูบน้ำพระยาบรรลือมายังสถานีสูบน้ำสิงหนาท2 ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการลำเลียงน้ำล่วงหน้ามาแล้วตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถสูบน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ได้ตั้งแต่เวลา 10.00 น. ของวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา

กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าจะบริหารจัดการน้ำภายใต้ข้อจำกัดอย่างเต็มความสามารถ ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดทั้งปี ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด