กรมชลฯ รับมือฤดูฝน สั่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ

รายงานข่าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ VDO Conference จากทำเนียบรัฐบาลมายังศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน สามเสน  

อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมการรับมือฤดูฝนปีนี้ว่า กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งสำรวจสิ่งกีดขวางทาง และการกำจัดวัชพืชในแม่น้ำสายหลัก คู คลองต่างๆ การติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆเป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่วางไว้ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรือน้ำล้นตลิ่ง อีกทั้ง ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน

ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 34,100 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 45 %  ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,436 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีรวมกันประมาณ 8,276 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,580 ล้าน ลบ.ม.

ล่าสุด มีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 1,481 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 12% ของแผนจัดสรรน้ำฤดูฝน เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 485 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 15% ของแผนฯ ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปี 2563 ปัจจุบันทั้งประเทศเพาะปลูกแล้วรวมทั้งสิ้น 0.65 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 16.79 ล้านไร่ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกแล้ว 0.43 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 8.10 ล้านไร่ ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ค่อนข้างจำกัด สำรองไว้ใช้ได้เฉพาะอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น ส่วนการทำนาปี ขอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก และแม้ว่าขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่ขอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเมื่อเห็นว่ามีปริมาณฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำเพียงพอในพื้นที่