คาดเงินสะพัดช่วงปีใหม่ 3 หมื่นล้านบาท จากโครงการคนละครึ่ง/ช้อปดีมีคืน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 พบว่า คนกรุงเทพฯ กว่า 42.5% ของผู้ตอบแบบสำรวจเลือกฉลองปีใหม่ในกทม. เพราะต้องการหลีกเลี่ยงสภาพการจราจรติดขัด ขณะที่บางส่วนตัดสินใจออกเดินทางตั้งแต่ช่วงวันหยุดยาวต้นเดือนธันวาคม

ด้านการจับจ่ายใช้สอย คนส่วนใหญ่ยังมีแผนทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และพบว่า หากไม่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐโดยค่าใช้จ่ายรวมในช่วงปีใหม่ 2564 (ปลายเดือนธันวาคม 2563 ถึงต้นเดือนมกราคม 2564) จะเฉลี่ยอยู่ที่ 5,300 บาทต่อคน เนื่องจากยังมีความกังวลต่อผลกระทบของโควิด-19 ในต่างประเทศที่อาจลากยาวไปอีก ประกอบกับปัจจัยกดดันด้านหนี้ครัวเรือน และสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง กดดันบรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ทำให้คาดว่า ค่าใช้จ่ายรวมต่อคนในช่วงเทศกาลใหม่ 2564 ของคนกรุงเทพฯ จะปรับเพิ่มขึ้น

ผลของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกปี 2564 น่าจะเป็นแรงหนุนกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่ได้บางส่วน ได้แก่

1. โครงการช้อปดีมีคืน เพื่อให้ผู้เสียภาษีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำยอดใช้จ่ายสินค้าและบริการตามที่กำหนด สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปหักลดหย่อนได้

2. โครงการ คนละครึ่ง ซึ่งรัฐจะช่วยจ่าย 50% ของยอดใช้จ่ายกับร้านค้าที่ลงทะเบียนร่วมโครงการ มูลค่าไม่เกิน 150 บาทต่อวัน วงเงินรวมตลอดระยะเวลาโครงการไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ครบโควตาในเฟสแรก พร้อมทั้งเตรียมดำเนินการในเฟส 2 ที่จะเริ่มให้ใช้สิทธิ์ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ขยายวงเงิน 3,500 บาทต่อคน และเพิ่มวงเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ในเฟสแรกอีก 500 บาทต่อคน

คาดว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 รวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,050 ล้านบาท ทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า เป็นผลจากแรงหนุนที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและเพิ่มกำลังซื้อช่วงปีใหม่ได้บางส่วน

แต่ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญแรงกดดันด้านกำลังซื้อ และต้องการได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย สอดคล้องไปกับผลการสำรวจการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงปีใหม่ 2564 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า ส่วนใหญ่ปรับลดงบประมาณ สำหรับการฉลองปีใหม่ลงจากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้ทยอยใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ในช่วงแคมเปญลดราคาอย่าง 11.11 12.12 และใช้สิทธิ์การท่องเที่ยวผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันไปแล้ว

และ คนกทม. ทุกกลุ่มรายได้ ปรับลดงบประมาณสำหรับเทศกาลปีใหม่ 2564 แต่ยังได้รับแรงหนุนจากมาตรการช่วยหนุนการใช้จ่าย โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้จ่ายรายประเภทกิจกรรม ดังนี้

  • การเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารเครื่องดื่ม มากที่สุด 10,500 ล้านบาท
  • ช้อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนตัว ของขวัญ 8,400 ล้านบาท
  • เดินทางในประเทศ ค่าเดินทาง ที่พัก 7,250 ล้านบาท
  • ค่าบริการ กิจกรรมสันทนาการ 1,850 ล้านบาท
  • ทำบุญ ไหว้พระ สวดมนต์ 1,400 ล้านบาท
  • และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ให้เงิน บัตรของขวัญ อยู่ที่ 650 ล้านบาท

มูลค่าการใช้จ่ายรายกิจกรรมส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ยกเว้นค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารเครื่องดื่ม และค่าใช้จ่ายสำหรับช้อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนตัว ของขวัญ ที่ประเมินว่า น่าจะขยายตัวที่ 7.1% และ 7.7% ตามลำดับ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของภาครัฐ ทำให้ผู้บริโภคเลือกจับจ่ายใช้สอยโดยใช้สิทธิ์ผ่านโครงการ

ผลการสำรวจในภาพรวม ยังสะท้อนว่า คนกรุงเทพฯ ในทุกกลุ่มรายได้ มีความระมัดระวังในการใช้จ่าย หากไม่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย คนส่วนใหญ่ปรับลดหรือคงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายรวมสำหรับการทำกิจกรรมและซื้อสินค้าช่วงปีใหม่ 2564 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี มากกว่า 20% ของกลุ่มผู้มีรายได้ 75,001 บาทต่อเดือนขึ้นไป มีแผนเพิ่มการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับปีก่อน

คนกรุงเทพฯ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงสังสรรค์และช้อปปิ้งซื้อสินค้าที่เม็ดเงินมากที่สุด 2 ลำดับแรก

เมื่อพิจารณารูปแบบการเลี้ยงสังสรรค์ ใช้จ่ายสำหรับค่าอาหารเครื่องดื่ม พบว่า คนกรุงเทพฯ มากกว่า 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีการปรับรูปแบบการเลี้ยงสังสรรค์จากการไปรับประทานที่ร้านอาหาร หันไปซื้ออาหารและเครื่องดื่มมาปรุงรับประทานเอง เนื่องจากราคาถูกกว่าการไปรับประทานที่ร้านอาหาร สามารถรับประทานได้หลายคนทั้งครอบครัว อีกทั้งต้องการหลีกเลี่ยงการไปในพื้นที่ชุมชนที่อาจมีคนหนาแน่นกว่าปกติในช่วงเทศกาล

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอาจมีการปรับลดงบการจัดเลี้ยงประจำปีลงให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ขณะที่ แม้การเลือกสั่งซื้ออาหารสำหรับเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ผ่าน Food Delivery จะยังมีสัดส่วนการใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่คาดว่าน่าจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับการปรับตัวของทั้งผู้บริโภคและร้านอาหารที่คุ้นเคยกับการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับความสะดวกสบายในการชำระเงินได้หลายรูปแบบ ทั้งการชำระด้วยเงินสด บัตรเครดิต และ e-Wallet เป็นต้น นอกจากนี้ แต่ละแอปพลิเคชันยังมีโปรโมชั่นส่วนลดค่าอาหาร ค่าส่ง และสินค้าพิเศษเฉพาะ ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการ